ครอบแก้ว อีกทางเลือกของแพทย์แผนจีน
ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้เทคโนโลยี มีแต่ "แก้ว" และ "ความร้อน" เพื่อสลายสาเหตุของโรคภัยที่เกาะกินคุณอยู่ อาจจะต้องแลกกับรอยฟกช้ำที่ดูน่ากลัวไปสักนิด แต่ก็นับเป็นคำตอบแทนที่คุ้มค่าสำหรับความเจ็บปวดที่กำลังจะหายไป แล้วคุณล่ะ จะลองเปิดใจให้แก่การรักษาที่มีอายุหลายพันปีชนิดนี้บ้างมั้ย?
ความจริงก็คือ "การครอบแก้ว" ไม่ใช่วิธีใหม่เลย เพราะมันอยู่ในตำราแพทย์แผนจีนเป็นระยะเวลาหลายพันปีมาแล้ว เคียงคู่กับการฝังเข็ม สมุนไพรจีน นวดทุยหนา ฯลฯ ในสมัยโบราณเขาใช้เขาสัตว์มาทำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปวัสดุในการรักษาก็ทันสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ และแพร่หลายไปทั่วโลก จนอาจเปลี่ยนจากแก้วจุดไฟเป็นโหลพลาสติกสุญญากาศแทน แต่หัวใจของการครอบแก้วก็ยังอยู่
ตามตำราจีนเชื่อกันว่าในร่างกายเรามีพลังชิ (Qi) ซึ่งอาจอ่อนแอ หรือกระจัดกระจายได้จากไลฟ์สไตล์และพิษจากภายนอก การครอบแก้วก็จะช่วยนำพลังชินี้ให้กลับมามีเส้นทางดังเดิม พร้อมกับกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทั้งยังเชื่อว่าจะช่วยดูดพิษออกจากร่างกายได้อีกด้วย
ครอบแก้ว คือ วิธีการรักษาตำรับแพทย์แผนจีนโบราณซึ่งใช้แก้วครอบลงบนผิว จากนั้น จึงลดความดันภายใน โดยการใช้ความร้อนหรือการดูดอากาศออก จนผิวหนังและกล้ามเนื้อถูกดูดเข้าไปในแก้ว อาจมีการใช้น้ำมันสมุนไพรทาผิวหนังก่อน เพื่อให้การเคลื่อนแก้วเป็นไปโดยง่ายขึ้น แก้วอาจถูกครอบนานประมาณ 5-15 นาที จากนั้นผิวหนังจะแดง เมื่อเอาแก้วที่ครอบออกแล้วผิวจะแดงช้ำ นั่นหมายความว่าเลือดคั่งอย่างจงใจเพื่อการรักษาโรค และแม้ว่าผิวหนังบริเวณที่ถูกครอบแก้วจะมีสีน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่เห็น เนื่องจากผิวของคนไข้หลายคนช้ำง่ายอยู่แล้ว และแก้วที่ครอบก็อาจปรับให้เหมาะกับคนไข้ได้ สิ่งสำคัญก็คือคุณควรบอกกับแพทย์ หากรู้สึกเจ็บปวดจริง ๆ
ชนิดของขวด หรือกระบอกที่ใช้ครอบแก้วมีอยู่มากมาย ในปัจจุบันที่ใช้กันบ่อย ๆ มีอยู่สามชนิด ได้แก่ ไม้ไผ่ กระเบื้อง และแก้ว ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกันไป อย่างเช่น ไม้ไผ่ ถึงแม้จะถูกแต่ก็มีแรงดูดไม่พอ ร้าว และรั่วง่าย ส่วนกระเบื้องนั้นมีแรงดูดดี ปากเรียบ ไม่คม แต่ตกแตกง่าย จนถึงขวดแบบแก้วที่มีลักษณะคล้ายลูกบอล มีข้อดีก็คือ แก้วใสจึงสามารถสังเกตผิวหนังเวลาครอบได้ชัดเจน ส่วนข้อเสียก็คือแตกง่าย อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า การครอบแก้วจะใช้ความร้อนเพื่อลดแรงดันภายในขวดแก้ว (หรือขวดอื่น ๆ) และก็มีหลายวิธีเช่นกันในการให้ความร้อน เช่น ส่านหั่น หรือการจุดไฟเผาลำสีแอลกอฮอล์แล้วนำเข้าไปวนในกระบอกแก้วก่อนครอบ ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย เช่นเดียวกับวิธีการต้มด้วยน้ำ ซึ่งจะทำกับกระบอกไม้ไผ่ แต่หากเป็นวิธีอื่น ๆ แล้วภายในขวดแก้วที่ครอบอาจมีเปลวไฟอยู่ด้วยซ้ำ จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ให้ลวกหรือโดนผิวหนัง และคุณก็ไม่ควรลองครอบแก้วด้วยตนเองที่บ้านเด็ดขาดด้วย
ครอบแก้วทำอย่างไร?
ในการรักษาโดยการครอบแก้ว แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่า จะใช้วิธีใดจึงจะเหมาะ ซึ่งอาจยกตัวอย่างการครอบแก้วได้ดังนี้ :
1.โจ่วก้วน หรือเรียกอีกอย่างว่าทุยก้วน เป็นการครอบแก้วแบบเคลื่อนไหว คือจะใช้วาสลีน หรือน้ำมันหล่อลื่นทาลงไปบนตำแหน่งที่จะทำการครอบแก้ว หรือทาไว้ที่ปากกระบอก จากนั้น จึงนำแก้วครอบลงไปแล้วเคลื่อนไปยังตำแหน่งขึ้น-ลง หรือซ้าย-ขวา ตามที่ต้องการจนกว่าผิวหนังจะแดงจากการที่เลือดคั่ง จึงเอากระบอกแก้วออก มักใช้กับเนื้อที่ขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อมาก เช่น แผ่นหลัง เอว ก้น ต้นขา เพื่อรักษาโรคปวดจากลมและความชื้น รวดทั้งอาการชาด้วย
2.ส่านก้วน คือการครอบแก้วแบบดึงเร็ว หลังจากครอบแก้วเสร็จแล้วจะต้องรีบดึงเอาแก้วออก และทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ หลายครั้งจนกว่าผิวหนังบริเวณดังกล่าว จะเปลี่ยนเป็นสีแดงคือ มีภาวะเลือดคั่งแล้วจึงหยุด ส่วนมากใช้รักษาผู้ป่วย ที่มีอาการปวดและชาที่ผิวหนังหรือสมรรถภาพเสื่อมถอย
3.ชื่อเซียวะเป๋าก้วน เป็นการครอบแก้วที่ประสานกับการใช้เข็มเพื่อแทงสะกิดเลือด หลังจากการฆ่าเชื้อตำแหน่งที่ต้องการทำการครอบแก้วแล้ว จะมีการใช้เข็มซานหลิงจิ้มให้เลือดออก หรือใช้เข็มดอกเหมยเคาะตี หลังจากนั้น จึงครอบแก้วลงไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ส่วนมากใช้รักษาโรคไฟลามทุ่ง ฝีหนอง ที่เต้านม หรือเคล็ดขัดยอก เป็นต้น
4.หลิวเจินป๋าก้วน คือการครอบแก้วที่ใช้คู่กับการฝังเข็ม เรียกง่าย ๆ ว่า เจินก้วน วิธีการรักษานี้ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฝังเข็ม และการครอบแก้วควบคู่กัน คือ หลังจากปักเข็มลงไปแล้ว จากนั้น จึงนำแก้ว ครอบลงไปโดยมีเข็มที่ปักอยู่เป็นจุดศูนย์กลาง ประมาณ 5-10 นาที รอจนผิวเป็นสีแดงหรือมีเลือดคั่งจึงเอาแก้วและเข็มออก
ครอบแก้วรักษาอะไรได้บ้าง
ปัจจุบันมักใช้การครอบแก้วเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ก็สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นได้เช่นกัน อย่างเช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไอเรื้อรัง หรือหอบ และอัมพฤกษ์หรืออัมพาต นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าความร้อนจากถ้วยที่ไปกระตุ้นพลังงานชิ (Qi) จะทำให้จิตใจของผู้ป่วยรู้สึกเหมือนได้รับการเยียวยา จึงอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษาโรคซึมเศร้าแต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีไข้ขึ้นสูง เป็นหวัด มีอาการชักมีเนื้องอกหรือมีแนวโน้มว่าจะมี จะถูกห้ามไม่ให้รักษาด้วยวิธีการนี้โดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับหญิงที่ตั้งครรภ์สามเดือนแรก (หลังจากนั้นก็ห้ามไม่ให้ใช้การครอบแก้วบริเวณครรภ์ หรือบริเวณหลังเอว และกระเบนเหน็บเด็ดขาด)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น