ขี้เหล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassod Tree, Thai Copper Pod, Senna Siamea (Lamk.) H.S.Irwin et R.C.Bameby (Cassia siamea Lamk.)ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ชื่ออื่น : ขี้เหล็กแก่น, ขี้เหล็กบ้าน, ขี้เหล็กหลวง, ขี้เหล็กใหญ่
รูปลักษณะ : ขี้เหล็ก เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเขียว ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝัก แบบยาวและหนา สรรพคุณของ ขี้เหล็ก : ใบอ่อน, ดอกตูมและแก่น มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด จึงมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อนครั้งละ 2-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 1-1.5 ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว นอกจากนี้ยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ โดยใช้วิธีนำมาดองเหล้า ดื่มก่อนนอน
*********************************************************************************
คูน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Golden Shower Tree, Purging Cassia, Cassia fislula Linn.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ชื่ออื่น : ราชพฤกษ์, ลมแล้ง
รูปลักษณะ : คูน เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปวงรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-12 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ห้อยเป็นโคมระย้า กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝักกลม สีน้ำตาลเข้มหรือดำ เปลือกแข็ง ผิวเรียบ ภายในมีผนังกั้นเป็นห้อง แต่ละห้องมีเมล็ด 1 เมล็ด มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีดำเหนียว สรรพคุณของ คูน : เนื้อหุ้มเมล็ดสีดำ มีกลุ่มสารแอนทราคิวโนน เป็นยาระบาย โดยใช้ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) ต้มกับน้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอน ดอก เป็นยาระบาย และแก้ไข้
*********************************************************************************
ชุมเห็ดเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Seven Golden Candle Stick, Ringworm Bush, Senna alata (Linn.) H.S.Irwin et R.C.Barneby (Cassia alata Linn.)
ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ชื่ออื่น : ขี้คาก, ลับมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ, ชุมเห็ดใหญ่
รูปลักษณะ : ชุมเห็ดเทศ เป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร แตกกิ่งออกด้านข้างในแนวขนานกับพื้น ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 ซม. ยาว 6-15 ซม. หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองทอง ใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกย่อยเห็นชัดเจน ผลเป็นฝัก มีครีบ 4 ครีบ เมล็ดแบน รูปสามเหลี่ยม สรรพคุณของ ชุมเห็ดเทศ : ใบสด ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อนได้ผลดี โดยตำแช่เหล้า เอาส่วนน้ำเหล้าทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อราที่ผม และเล็บใช้ไม่ได้ผล ใบและดอก มีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น Rhein, Emodin และ Aloeemodin ใช้เป็นยาระบาย ที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ต้มใบแห้งครั้งละ 12 ใบ หรือชงน้ำดื่มก่อนนอน หรือทำเป็นยาลูกกลอน หรือใช้ดอกสด 2-3 ช่อ ต้มกินเป็นผักจิ้ม ไม่ควรกินติดต่อกันนาน เพราะจะทำให้ลำไส้ชินยา และไม่ทำงานตามปกติ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
*********************************************************************************
ตองแตก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Baliospermum montanum (Willd.) Muell. Arg.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : ตองแต่, ถ่อนดี, ทนดี, นองป้อม, ลอมปอม
รูปลักษณะ : ตองแตก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ยอดอ่อนมีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบที่บริเวณยอดรูปใบหอกหรือรูปวงรี กว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-7 ซม. ใบที่บริเวณโคนต้นมักมีขอบหยักเว้าเป็น 3-5 แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 7-8 ซม. ยาว 15-18 ซม. ดอกช่อ แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบนช่อเดียวกัน ออกที่ซอกใบ ดอกตัวผู้มีจำนวนมาก อยู่ตอนบนของช่อ ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงสีเหลืองแกมเขียว 4-5 กลีบ ดอกตัวเมียออกที่โคนช่อ ไม่มีกลีบดอก ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู สรรพคุณของ ตองแตก : ใบแห้ง ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่าย เมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรง ราก ต้มน้ำดื่มหรือฝนน้ำกิน เป็นยาถ่ายที่ไม่รุนแรง ถ่ายลมเป็นพิษ (ผื่นคันหรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง) ถ่ายพิษพรรดึก (อาการที่เกิดจากท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ) ถ่ายเสมหะเป็นพิษ (เช่น เสมหะเขียว)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น